top of page

เจาะลึก Hand-held portable x-ray อะไรยังไง? ( Hand-held portable x-ray machine: why and how)

           ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีความตื่นตัวเรื่องการป้องกันอันตรายจากรังสีจากเครื่องเอกซเรย์ประเภทนี้เป็นอย่างมาก องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้เข้าควบคุมตรวจสอบเครื่องเอกซเรย์ที่จำหน่ายในประเทศและให้ใบรับรองแก่บริษัทที่ได้มาตรฐาน (FDA-approved machine) ให้คำแนะนำการเลือกซื้อเครื่องเอกซเรย์รวมทั้งการป้องกันสำหรับผู้ทำงานเกี่ยวกับรังสีอีกด้วยสำหรับในยุโรปนั้น เมื่อต้นปี 2015 ทาง European Academy of DentoMaxilloFacial Radiology ก็มีประกาศแนวทางในการใช้เครื่องเอกซเรย์แบบพกพาออกมาแล้วส่วนประเทศไทยเอง ถึงแม้จะมีความนิยมในการใช้เครื่องเอกซเรย์ประเภทนี้มากขึ้น แต่กลับยังไม่มีประกาศ หรือ ข้อกำหนดที่ชัดเจน จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ดังนั้นในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขออ้างอิงแนวทางจากทั้งสองแหล่งข้างต้น

จากหลายๆงานวิจัย มีการรายงานถึงปริมาณรังสีทุติยภูมิ จากเครื่องเอกซเรย์แบบพกพา พบว่าผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับรังสีทุติยภูมิ โดยเฉพาะเครื่องเอกซเรย์ที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา(non-FDA-approved machine)เช่น เครื่องที่ผลิตจากประเทศจีน หากลองค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ของFDA จะพบรายชื่อของยี่ห้อเครื่องเอกซเรย์ที่พบปริมาณรังสีทุติยภูมิที่เกินมาตรฐาน

            จากข้อกำหนดของ The International Commission on Radiation Protection (ICRP) ปริมาณรังสีที่ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีสามารถได้รับด(occupational dose) ในบริเวณทั่วร่างกาย (whole body) และ แขนขา คือไม่เกิน 20มิลลิซีเวิร์ต (mSv) และ 500mSv ต่อปี ตามลำดับ แต่จากงานวิจัยของ Mahdian M และคณะ ที่ตีพิมพ์ลงใน The journal of the American Dental Associationในปี 2014รายงานว่า เครื่องเอกซเรย์แบบพกพาที่ไม่ได้มาตรฐาน FDA มีปริมาณรังสีที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับสูงถึง 40,000 mSvและ 30 mSv ต่อปีที่บริเวณมือและ ทั่วร่างกายตามลำดับ ในขณะที่เครื่องเอกซเรย์แบบพกพาที่ได้มาตรฐานนั้น พบปริมาณรังสีเพียง 0.157 mSv และ 0.043 mSv ต่อปี โดยคิดจากการถ่ายเอกซเรย์100ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา50 สัปดาห์ต่อปี

            นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการตั้งค่าการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง จากการสำรวจพบการตั้งค่า exposure time ที่แตกต่างกันจาก 0.1 วินาทีถึง 9.9วินาที ซึ่งยิ่งใช้เวลานาน ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับก็มากขึ้นด้วย อีกทั้งเครื่องเอกซเรย์แบบพกพานั้นได้รับพลังงานจากแบตเตอรี่ซึ่งมีค่าความต่างศักย์ต่ำกว่าไฟบ้าน ทำให้ค่าพลังงานของรังสีที่ปล่อยออกมาต่ำกว่าพลังงานของรังสีที่ได้จากเครื่องเอกซเรย์แบบอื่น ผู้ป่วยจึงเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากรังสีเอกซ์พลังงานต่ำ (low energy x-ray) ที่สามารถดูดกลืนเข้าสู่ร่างกาย แต่ไม่มีประโยชน์ในการเกิดภาพรังสียิ่งหากตั้งค่า kVpต่ำเกินไป ก็มีความเสี่ยงที่ผิวหนังบริเวณที่ได้รับรังสีจะแสบแดงหรือไหม้ได้

            จากข้อมูลที่รวบรวมมาจะเห็นว่า ในความสะดวกสบายของเครื่องเอกซเรย์แบบพกพานั้นก็แฝงความน่ากลัวไว้ไม่ใช่น้อย ผู้เขียนจึงขอเสนอข้อบ่งใช้ แนวทางในการเลือกซื้อเครื่อง การใช้งาน และ ข้อควรระวังดังนี้

            เครื่องเอกซเรย์แบบพกพา หรือ Handheld portable x-ray machine ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อต้นยุค90 หรือประมาณปีพ.ศ.2533 จุดประสงค์เพื่อใช้ในทางทหาร หรือทางนิติเวชวิทยา เนื่องจากสามารถพกพาไปใช้งานนอกสถานที่ได้ง่าย ไม่ต้องการสถานที่ติดตั้งและไม่มีสายเกะกะ ทำให้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นจนมีการนำมาใช้ในวงการทันตแพทย์เพื่อใช้ถ่ายภาพรังสีในช่องปาก

            รูปทรงของเครื่องเอกซเรย์แบบพกพานั้นโดยมากจะมีลักษณะคล้ายกล้องถ่ายรูป หรือ คล้ายกับเครื่องฉายแสง โดยมีส่วนตัวเครื่องที่มีหน้าปัดดิจิทัล เพื่อแสดงค่าการใช้งาน(kVp, mA และเวลา) และกระบอกรังสียื่นออกมา ซึ่งในบางรุ่นจะมีทั้งแบบ short cone และ long coneสำหรับการใช้งานนั้นถึงแม้ในบางยี่ห้อจะมีขาตั้ง หรือตัวยึดเครื่องเอกซเรย์ให้อยู่นิ่งกับที่ขณะถ่าย แต่โดยมากผู้ปฏิบัติงานจะถือเครื่องเอกซเรย์ไว้ในมือคล้ายการถ่ายรูป ทำให้ตัวผู้ปฏิบัติงานอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดรังสี มีโอกาสที่จะได้รังสีที่รั่วออกมาจากตัวเครื่องและรังสีทุติยภูมิ (secondary radiation or scatter radiation)จากผู้ป่วยได้มากกว่าการถ่ายด้วยเครื่องเอกซเรย์ประเภทอื่นที่ผู้ปฏิบัติงานยืนหลังฉากกันรังสี (รูปที่ 1)

           ในทางทันตกรรม ควรยึดหลัก ALARA หรือ as low as reasonably achievable คือได้ผลลัพธ์ที่ต้องการโดยใช้ปริมาณรังสีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น การใช้เครื่องเอกซเรย์แบบพกพานั้น ควรใช้ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้เครื่องเอกซเรย์แบบปกติได้ เนื่องจากคุณภาพของภาพรังสีที่ถ่ายจากเครื่องเอกซเรย์แบบพกพานั้นด้อยกว่า และปริมาณรังสีที่ตัวผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วยได้รับสูงกว่าปริมาณรังสีจากเครื่องเอกซเรย์แบบปกติ เครื่องเอกซเรย์ประเภทนี้จึงเหมาะกับการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ห้องผ่าตัด หรือห้องฉุกเฉินที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ ซึ่งควรจัดสถานที่ให้เหมาะสม และกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณนั้น ตามกฎinverse square lawคือยิ่งไกลจากจุดกำเนิดรังสีมากเท่าไร ความเข้มของรังสีจะลดลงเท่านั้น (รูปที่ 2,3)

ข้อบ่งชี้

การเลือกซื้อ

          เนื่องจากประเทศไทย ยังไม่มีหลักเกณฑ์แน่ชัด ผู้เขียนจึงขอเสนอให้เลือกซื้อเครื่องที่ผ่านการรับรองของ FDAโดยจะต้องมีฉลากที่มีตราFDA และ บอกคุณสมบัติ ของเครื่องโดยชัดเจนทั้ง field of view, focal spot, filtration และ voltage (รูปที่ 4)

           โดยvoltage ควรมากกว่า 60 kVp ขึ้นไปfiltration ควรจะหนา 1.5 mm Al ขึ้นไปเพื่อกรองรังสีเอกซ์พลังงานต่ำfocal spotนั้น ยิ่งมีขนาดเล็กมาก ภาพรังสีที่ได้ก็จะยิ่งมีความคมชัดมาก และ ควรเลือกกระบอกรังสีแบบ long cone มากกว่า short cone นอกจากนี้ ควรเลือกเครื่องที่มีน้ำหนักเบา มีเสียงเตือนเมื่อเครื่องเอกซเรย์ปล่อยรังสี มี aiming beam ช่วยในการกะทิศทางของรังสี และมี backscatter shield เพื่อป้องกันรังสีทุติยภูมิ(รูปที่ 5,6)

       สำหรับ backscatter shield ซึ่งมีความสำคัญในการป้องกันรังสีที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับนั้น จะขอลงรายละเอียดไปอีกคือ จะต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 15.2 ซม. หนา 0.25 mm lead equivalent สามารถติดตั้งที่ปลายสุดของกระบอกรังสี โดยลึกเข้ามาไม่เกิน 1 ซม.

การใช้งานและข้อควรระวัง

1.ผู้ปฏิบัติงานควรใส่เสื้อตะกั่ว และถุงมือตะกั่วทุกครั้ง (รูปที่ 7)และใส่ backscatter shield ที่เครื่อง

2.ขณะถ่ายควรถือเครื่องในระดับกึ่งกลางลำตัว ( mid –torso level) (รูปที่ 8) ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างปลอดภัยต่ออวัยวะที่ไวต่อรังสี และให้กระบอกรังสีชิดผู้ป่วยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

        3.ใช้เวลาในการถ่ายตามที่บริษัทกำหนด แต่ไม่ควรเกิน 1 วินาที เนื่องจากจะเกิด movement artifact ได้ง่าย

        4.ควรเลือกใช้F-speed film หรือ digital receptor เพื่อลดปริมาณรังสีที่ใช้

        5.ตรวจสอบให้แบตเตอรี่ของเครื่องเอกซเรย์เต็มอยู่เสมอ และควรชาร์จไฟทุกวัน

        6.เก็บเครื่องไว้ในกล่องกันรังสี และอนุญาตให้ใช้งานได้เฉพาะผู้ปฏิบัติงานทางรังสีเท่านั้น

         รังสีเอกซ์เปรียบเสมือนดาบสองคมมีทั้งประโยชน์และโทษ ควรระลึกไว้เสมอว่า การที่เรามองไม่เห็นรังสี ไม่ได้รับอันตรายจากรังสีในทันที ไม่ได้แปลว่าปลอดภัยเสมอไป อันตรายจากรังสีนั้นมีทั้งแบบเห็นผลชัดเจน(deterministic effect) และแบบสะสม(stochastic effect)ซึ่งเพียงปริมาณไม่มากก็อาจส่งผลในระดับเซลล์และพันธุกรรมได้ ดังนั้นก่อนที่จะรับเทคโนโลยีใดๆมาใช้ ก็ควรที่จะค้นหาข้อมูลให้รอบด้าน ผู้เขียนหวังว่า ข้อมูลที่นำมาแบ่งปันในครั้งนี้ จะช่วยในการตัดสินใจซื้อเครื่องเอกซเรย์เครื่องใหม่ได้บ้างนะคะ

โดย : อ.ดร.ทญ.กรกมล กรีฑาภิรมย์ ภาควิชารังสีวิทยาช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

  • Grey Facebook Icon
  • Grey Twitter Icon
  • Grey Instagram Icon

© 2023 by We Smile. Proudly created with Wix.com

bottom of page